รายละเอียดโครงการ

ความเป็นมาของโครงการ

BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่พัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน อุตสาหกรรมภาคป่าไม้นับว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน BCG Model โดยเฉพาะเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งสามารถช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ก่อให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างมูลค่าให้แก่ผู้ประกอบการ และเป็นการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเสริมความเข้มแข็งทางทรัพยากรธรรมชาติที่จะขยายผลไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) อีกด้วย ด้วยหลักคิดของโครงการวิจัยที่ต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนและนวัตกรรมการจัดการกระบวนการที่จะนำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ ทำให้โครงการวิจัยมีสอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 15 (Life on land) โดยเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 15 มีเป้าหมายเพื่อ "ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน หยุดและลดความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ" การเพิ่มพื้นที่ป่านับเป็นนโยบายที่ท้าทายอย่างหนึ่งของประเทศไทย รัฐบาลได้มีการส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วมากขึ้นเพื่อทดแทนป่าที่ถูกทำลายและรักษาความสมดุลตามธรรมชาติ โดยรัฐบาลมียุทธศาสตร์และแผนส่งเสริมไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย และช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยมีแผนการสนับสนุนให้มีการปลูกไม้มีค่าในชุมชนต่างๆ เพื่อให้มีไม้ใช้สอยอย่างเพียงพอ และเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ไม้เศรษฐกิจที่ประชาชนนิยมปลูกมีมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น สัก พะยูง ชิงชัน มะค่า สะเดาเทียม กระถินเทพา กระถินณรงค์ หรือแม้แต่ยูคาลิปตัส ยูคาลิปตัสเป็นไม้ต่างประเทศที่สามารถเจริญเติบโตได้ในแทบทุกสภาพพื้นที่ และมีอัตราการเจริญเติบโตสูง สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกยูคาลิปตัสคือพื้นที่ค่อนข้างราบ มีการระบายน้ำได้ดี ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย มีชั้นดินลึก ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง ค่า pH 5-6 ที่สำคัญพื้นที่ปลูกไม่ควรอยู่ในบริเวณที่มีฝนตกชุกหรือมีความชุ่มชื้นสูง การปลูกยูคาลิปตัสสามารถปลูกได้ทั้งปลูกแบบชนิดเดียวล้วน ปลูกร่วมกับพันธุ์ไม้อื่น ปลูกแบบวนเกษตร และปลูกบนคันนา ปัจจุบันยูคาลิปตัสได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว และราคาไม้ยูคาลิปตัสมีแนวโน้มที่สูงขึ้นตามความต้องการของตลาด ไม้ยูคาลิปตัสจึงถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยเป็นอย่างดี มีการปลูกกันเป็นจำนวนมากเพื่ออุตสาหกรรมชิ้นไม้สับสำหรับผลิตแผ่นใยไม้อัด แผ่นชิ้นไม้อัด เยื่อและกระดาษ ดังนั้นหากมีระบบการจัดการที่ดี ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีร่วมกันอย่างเหมาะสม การปลูกต้นยูคาลิปตัสก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจของประเทศ ปัจจุบันโอกาสทางการตลาดของยูคาลิปตัสนั้นเติบโตเป็นอย่างมาก มีตลาดรับซื้อที่ชัดเจนและหลากหลาย เกษตรกรที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสสามารถตัดไม้ขายได้ตลอดทั้งปี ทุกส่วนของลำต้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด แต่การที่จะตัดสินใจว่าจะขายไม้ให้กับอุตสาหกรรมใดนั้นเกษตรกรยังขาดความรู้และข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรจะนำไม้ไปขายให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง เช่น ขายเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเยื่อกระดาษ หรือขายเป็นไม้เสาก่อสร้าง ซึ่งอุตสาหกรรมนั้นอาจจะอยู่ใกล้สวนป่ามากที่สุดแต่อาจจะไม่ได้ให้ราคาที่ดีที่สุดก็เป็นไปได้ ซึ่งเป็นการจำกัดรูปแบบการใช้ประโยชน์จากไม้ยูคาลิปตัส ไม่มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทำให้รายได้จากการจำหน่ายไม้ไม่ได้กำไรเท่าที่ควร และนี่คือการเสียโอกาสของเกษตรกรโดยที่เกษตรกรไม่รู้ตัว แต่ในขณะที่ต่างประเทศได้มีการศึกษาวิจัยเชิงบูรณาการที่ส่งเสริมการจำแนกประเภทของไม้ตามความต้องการของตลาดและราคา เช่น ไม้ท่อนใหญ่บริเวณโคนต้นขายเป็นไม้แปรรูป ไม้ขนาดกลางส่งขายโรงงานเยื่อกระดาษ และไม้ขนาดเล็กส่งทำชิ้นไม้สับ ก่อให้เกิดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยการจะพัฒนารูปแบบการจัดจำหน่ายตามขนาดไม้ได้นั้น จำเป็นต้องมีข้อมูลประกอบที่จำเป็น 2 ส่วนคือ ข้อมูลอุปทาน และข้อมูลอุปสงค์ของไม้ยูคาลิปตัสเสียก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่ก่อให้เกิดการสร้างสมดุลทางการค้า เป็นเพียงความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น การใช้ประโยชน์ไม้ยูคาลิปตัสของประเทศไทยมีความซับซ้อนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งนี้สามารถจำแนกการใช้ประโยชน์หลักออกได้เป็น ไม้บาง (Veneer) ไม้แปรรูป (Lumber) ไม้เสาค้ำยัน (Pole) และชิ้นไม้สับ (Wood chips) นอกจากนี้ราคารับซื้อและคุณสมบัติไม้ที่อุตสาหกรรมแต่ละประเภทต้องการมีความแตกต่าง ยกตัวอย่างเช่น ไม้บางเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ราคารับซื้อสูงสุด มีความต้องการไม้ขนาดใหญ่ ท่อนสั้น เปลาตรง และไม่มีตำหนิ ไม้เสาค้ำยันรับซื้อและจำหน่ายเป็นจำนวนท่อน นิยมใช้ไม้ขนาดเล็กและยาว เปลาตรง และชิ้นไม้สับรับซื้อในหน่วยของน้ำหนัก ไม่จำกัดขนาดความโตความยาว ถึงแม้ไม้จะมีตำหนิก็สามารถจำหน่ายได้ นอกจากนี้สายต้นของยูคาลิปตัสก็มีผลต่อการเลือกนำไปใช้ประโยชน์เช่นกัน เพราะไม่ใช่ว่าไม้ยูคาลิปตัสทุกสายต้นจะใช้ประโยชน์ได้กับทุกอุตสาหกรรม บางสายต้นอาจมีความชื้นในเนื้อไม้สูง บางสายต้นมีเนื้อไม้ที่เปราะ แตกได้ง่ายเมื่อมีการผ่าแปรรูป บางสายต้นมีการคดงอบริเวณโคนต้น จึงทำให้มีข้อจำกัดในการนำไปใช้ประโยชน์ได้เพียงบางอุตสาหกรรมเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความซับซ้อนในกระบวนการจำแนกการประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับข้อมูลอุปทานและอุปสงค์ จากการตรวจเอกสารเบื้องต้นพบว่าการศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลอุปสงค์อุปทานของไม้ยูคาลิปตัสได้มีนักวิจัยทำการศึกษามาบ้างแล้ว แต่ทั้งนี้องค์ความรู้ที่มีอยู่เป็นแบบแยกส่วน ขาดการบูรณาการร่วมกันของข้อมูล และการนำข้อมูลทางวิชาการถ่ายทอดไปสู่ผู้ใช้งานในรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าถึงและเข้าใจ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครื่องมืออย่างง่ายในการสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรถึงแนวทางในการใช้ไม้ยูคาลิปตัสจากสวนป่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีประสิทธิภาพ และเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งหลักการหาค่าที่เหมาะสมที่สุด (optimization) ได้ถูกนำมาใช้แก้ปัญหาในหลากหลายด้าน รวมถึงปัญหาทางด้านป่าไม้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การหาเส้นทางการขนส่งสินค้าที่เสียค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด (Rianthakool and Sakai 2014) การสร้างแบบจำลองเพื่อหาระบบการทำไม้ยูคาลิปตัสที่เหมาะสมของประเทศไทย (Manavakun 2014) การทอนไม้เพื่อให้ได้ผลกำไรสูงสุด (Kivinen 2004; Uusitalo 2007) เป็นต้น ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดยคณะวนศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “บูรณาการการทอนไม้ยูคาลิปตัสเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสวนป่าเชิงพาณิชย์” ด้วยทุนอุดหนุนวิจัย มก. ประจำปีงบประมาณ 2561-2562 มีโดยวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไม้ยูคาลิปตัส ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า และ 2) เพื่อให้เกษตรมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ผลจากการศึกษาสามารถนำไปเป็นแนวทางเพื่อเพิ่มความตระหนักให้แก่เกษตรกรให้รับทราบถึงทางเลือกในการเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง ผลการศึกษาพบว่าไม้ยิ่งมีขนาดใหญ่ยิ่งสามารถเลือกรูปแบบการทอนได้หลากหลาย การปรับรูปแบบการทอนไม้ รวมไปถึงแยกท่อนไม้ตามประเภทสินค้าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ช่วยสร้างรายได้มากขึ้นถึงสองเท่าตัว นอกจากนี้โครงการวิจัยยังได้ต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ที่มีชื่อว่า EVO - Eucalyptus Valuechain Optimization ซึ่งเป็นโปรแกรมประยุกต์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ มีลักษณะที่ใช้งานง่ายและสะดวกสำหรับการประเมินทางเลือกในการจำหน่ายไม้ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุด ช่วยประมาณการมูลค่าปัจจุบันของสวนป่า โดยอาศัยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ เกษตรกรผู้ปลูกไม้ยูคาลิปตัสสามารถใช้ข้อมูลจากโปรแกรมประยุกต์เพื่อประกอบการตัดสินใจหรือวางแผนการจัดการก่อนที่จะตัดไม้ขายได้เป็นอย่างดี เกษตรกรเพียงใส่ข้อมูลจำเพาะที่เกี่ยวข้องกับสวนป่าเพียงไม่กี่หัวข้อ โปรแกรมประยุกต์จะทำการประมวลผลและประมาณการผลผลิตของแต่ละประเภทสินค้าที่จะส่งไปยังโรงงานต่างๆ คำนวณผลกำไรต่อพื้นที่ทั้งหมดหรือต่อหน่วยพื้นที่ รวมถึงแสดงให้เห็นผลกระทบของเวลาที่มีต่อกำไรสุทธิ แต่ทั้งนี้ โปรแกรมประยุกต์ดังกล่าวเป็นเพียงการชี้นำแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรเพียงเท่านั้น ทั้งนี้อาจมีความคลาดเคลื่อนได้บ้าง เนื่องจากข้อมูลนำเข้าเป็นค่าเฉลี่ยของประชากร และตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าไม้นั้นไม่มีตำหนิ ไม่มีโรคและแมลงเข้ามารบกวน ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าค่าที่ได้จากการพยากรณ์บางครั้งอาจจะสูงเกินความเป็นจริงไปเล็กน้อย (overestimated) นอกจากนี้ข้อมูลที่นำมาใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์เป็นข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากไม้ยูคาลิปตัสจากภาคตะวันตกของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ทำให้ข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยยังไม่ครอบคลุมสายต้นที่นิยมปลูกในประเทศไทย ดังนั้นในข้อเสนอแนะของโครงการวิจัยได้แนะนำไว้ว่าควรขยายขอบเขตของฐานข้อมูลให้ครอบคลุมสายต้นยูคาลิปตัสให้มากที่สุด เพื่อความถูกต้องใกล้เคียงของผลลัพธ์ ควรมีการเพิ่มข้อมูลนำเข้าจำเพาะในส่วนของสายต้นในอนาคต ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาต่อยอดขยายผลให้เป็นรูปธรรมและสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อเกษตรกรผู้ปลูกไม้

วัตถุประสงค์

1. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไม้ยูคาลิปตัส ด้วยการใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าสูงสุด เกิดของเสียน้อยสุด เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปลูกป่าเศรษฐกิจ ผลักดันการสร้างเศรษฐกิจสีเขียว 2. พัฒนาเครื่องมืออย่างง่ายที่ช่วยสร้างการรับรู้และแนวทางในการจำหน่ายไม้ให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น 3. เสนอแนะแนวทางในการรักษาคุณภาพของเนื้อไม้ให้มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม

Outputs

Conference

# Conference
1 ดร.ไตรรัตน์ เนียมสุวรรณ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์, ดร.นพรัตน์ คัคคุริวาระ, รองศาสตราจารย์, ดร.นรินธร จำวงษ์, นายพรเทพ เหมือนพงษ์, รองศาสตราจารย์, นางสาวปัทมา แสงวิศิษฎ์ภิรมย์, ดร.ชาคริต ณ ตะกั่วทุ่ง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์, นายกิติพงศ์ ตั้งกิจ, อาจารย์, Tomi Kaakkurivaara, "อิทธิพลของลักษณะไม้ท่อนยูคาลิปตัสหลังตัดฟันต่อการแตกของหัวไม้และความไวต่อการเข้าทำลายของเชื้อรา", การประชุมการป่าไม้ ครั้งที่ 25, ปีที่ undefined, ฉบับที่ undefined, สิงหาคม - สิงหาคม 2023, หน้า undefined - undefined
2 นายกิติพงศ์ ตั้งกิจ, อาจารย์, ดร.เออวดี เปรมัษเฐียร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์, ดร.วรยศ ละม้ายศรี, อาจารย์, ดร.นิคม แหลมสัก, ผู้ช่วยศาสตราจารย์, ดร.นพรัตน์ คัคคุริวาระ, รองศาสตราจารย์, ดร.ชาคริต ณ ตะกั่วทุ่ง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์, ดร.ไตรรัตน์ เนียมสุวรรณ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์, ดร.นรินธร จำวงษ์, นายพรเทพ เหมือนพงษ์, รองศาสตราจารย์, "การแก้ปัญหาราคาไม้ยูคาลิปตัสโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ไม้ยูคาลิปตัสในประเทศไทย", การประชุมการป่าไม้ ครั้งที่ 25, ปีที่ undefined, ฉบับที่ undefined, สิงหาคม - สิงหาคม 2023, หน้า undefined - undefined

API url