รายละเอียดโครงการ

ความเป็นมาของโครงการ

รังนกเป็นผลิตผลที่ได้จากน้ำลายของนกแอ่นกินรัง โดยพ่อแม่นกจะสร้างรังจากต่อมน้ำลายก่อนการผสมพันธุ์เพื่อใช้เป็นที่วางไข่และเป็นที่อยู่ของลูกนกก่อนที่จะเริ่มหัดบินได้ ส่วนประกอบของรังนกประมาณ 85-90% เป็นน้ำลาย และ 3-15% เป็นขนอ่อน ในเมืองไทยมีนกแอ่นกินรังทั้งหมด 3 ชนิด คือ นกแอ่นกินรัง นกแอ่นกินรังตะโพกขาว และนกแอ่นหางสี่เหลี่ยมหรือนกแอ่นรังดำ น้ำลายหรือสารคัดหลั่งของนกแอ่นที่ใช้ทำรังมีลักษณะคล้ายเมือกคือสารไกลโคโปรตีนซึ่งเป็นสารประกอบเชิงซ้อนระหว่างคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน รังนกประกอบด้วยโปรตีน 62% ของน้ำหนัก ประกอบด้วยกรดอะมิโน 17 ชนิด โดยมีซีรีน วาลีน ไอโซลิวซีน ไทโรซีน กรดแอสพาร์ติก และ แอสพาราจีน เป็นส่วนประกอบหลัก ส่วนคาร์โบไฮเดรตคิดเป็น 28% ของน้ำหนัก และแซคคาไรด์ที่สำคัญ ได้แก่ sialic acid, กาแลคโตส, N-acetylgalactosamine, N-acetylglucosamine, ฟรุกโตส และแมนโนส ส่วนที่เหลือคือความชื้น (8%) เถ้า/แร่ธาตุ (2%) และไขมัน (1%) ไกลโคโปรตีน ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาวในน้ำเหลืองของมนุษย์ เพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย กระตุ้นการแบ่งเซลล์ของเม็ดเลือดขาว และกระตุ้นการหลั่งสารภูมิต้านทานต่างๆ ได้แก่ อิมมูโนโกลบูลินเอซึ่งเป็นแอนติบอดีหลักบริเวณเยื่อบุทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ รวมทั้งอิมมูโนโกลบูลินเอ็ม และอิมมูโนโกลบูลินจีซึ่งเป็นแอนติบอดีในเลือด รังนกจึงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อ ดีต่อระบบทางเดินหายใจ บรรเทาอาการหวัดและภูมิแพ้ และสร้างสารต่อต้านแบคทีเรียและเชื้อไวรัสขึ้นมา ช่วยรักษาอาการไอและเจ็บคอ ตลอดจนบำรุงปอดและหลอดลม Sialic acid หรือ N-acetylneuraminic acid (NANA) เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่มีคาร์บอน 9 อะตอม จัดเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลักที่พบในรังนกมีประมาณ 9% โดยมักเกาะอยู่บนผิวของรังนกอย่างหลวมๆ หรือเชื่อมอยู่กับโมเลกุลไกลแคนด้วยพันธะโควาเลนต์ และเชื่อมกับโปรตีน ซึ่งพบว่า NANA ในรังนกส่วนใหญ่มักอยู่ในรูป conjugated form ซึ่งมีรายงานว่าเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นส่วนประกอบหลักของสารในกลุ่มไกลโคไลปิดที่เป็นองค์ประกอบของแกงกลิโอไซด์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง ช่วยเพิ่มความจำ มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบของระบบประสาท เสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยชะลอวัย ช่วยให้ผิวพรรณสดใส เสริมสร้างการเจริญของเส้นผม จึงทำให้ปัจจุบันสารสกัดจากรังนกถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมากขึ้น โดยมีการศึกษาองค์ประกอบของสารสกัดจากรังนกด้วยวิธีโครมาโทกราฟี และศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพด้วยการวิเคราะห์กิจกรรมของเอนไซม์ tyrosinase, melanocytes และโมเดล 3 มิติของผิว พบว่า NANA สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase ซึ่งมีบทบาทสำคัญในกระบวนการสร้างเม็ดสีผิว โดยมีค่า IC50 ต่อเอนไซม์ tyrosinase ของเห็ดและเอนไซม์ tyrosinase ของคนเท่ากับ 16.93 มิลลิโมลาร์ และ 0.10 มิลลิโมลาร์ ตามลำดับ ดังนั้น NANA จึงมีศักยภาพใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในกลุ่ม whitening ในส่วนของสมบัติการเสริมสร้างการเจริญของเส้นผม Okajima (2009) พบว่า sialic acid สามารถช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผมในผู้ที่มีปัญหาศีรษะล้านได้ (83%) เนื่องจาก sialic acid ช่วยกระตุ้นการสร้าง IGF-1 ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการเจริญและการรอดชีวิตของเซลล์ นอกจากนี้สารสกัดจากรังนกกินได้สามารถกระตุ้นกระบวนการไมโตซีสเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของผิวหนังและยับยั้งการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในโฮสต์ โดยพบว่าสารสกัดจากรังนกซึ่งมี NANA เป็นส่วนประกอบเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนช่วยในการต้านเชื้อไข้หวัดใหญ่ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันได้ และในปี 2011 Matsukawa และคณะ พบว่า สารสกัดจากรังนกกินได้ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและความเข้มข้นแคลเซียม ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มีโปรตีนเป็นกลไกสำคัญ เนื่องจากในรังนกกินประกอบด้วยโปรตีนเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งเป็นสารสำคัญหลักในการเจริญเติบโต การพัฒนาและการผลิตสารทุติยภูมิหลายชนิดในระบบการป้องกันของสิ่งมีชีวิต ปริมาณโปรตีนในรังนกกินได้แต่ละประเทศมีปริมาณที่แตกต่างกัน เช่น รังนกจากประเทศอินโดนีเซียมีปริมาณโปรตีน 55.62% มาเลเซีย 52.8-54.3% และจากไทย 60.0-66.9% โปรตีนที่พบในรังนกมีขนาดต่างๆ ประมาณ 140.8, 64.8 และ 21.2 kDa แต่เมื่อใช้เอนไซม์ในการย่อยรังนกกินได้พบว่าโปรตีนขนาดใหญ่ส่วนมากจะถูกย่อยลงไปเป็นขนาด 70, 40 kDa หรือเล็กกว่านั้น ในขณะที่โปรตีนขนาดใหญ่บางตัวยังคงสภาพ โปรตีนที่พบมากในรังนกกินได้จากประเทศมาเลเซียเป็นโปรตีนที่มีน้ำหนักโมเลกุล 37-52 kDa ซึ่งขนาดของโปรตีนที่แตกต่างกันจะมีผลต่อกิจกรรมทางชีวภาพที่แตกต่างกันด้วย พอลิเปปไทด์ เป็นส่วนของโมเลกุลโปรตีนที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนประมาณ 10-50 โมเลกุล มาเรียงต่อกันด้วยพันธะเปปไทด์เป็นสายยาว หากมีจำนวนกรดอะมิโน 3-10 โมเลกุล มาเรียงต่อกัน เรียกว่า โอลิโกเปปไทด์ ถ้ามากกว่า 50 โมเลกุล เรียกว่า โปรตีน เปปไทด์เป็นตัวส่งของข้อมูลในเนื้อเยื่อซึ่งทำให้เป็นที่ต้องการอย่างมากในด้านเครื่องสำอางค์และเภสัชกรรม เปปไทด์ในเครื่องสำอางมักเรียกว่า biomimetic peptide ซึ่งหมายถึง สารที่เลียนแบบกลไกการออกฤทธิ์และเกิดจากสารที่เป็นธรรมชาติ เปปไทด์ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางนั้นมีอนุภาคขนาดเล็กประกอบด้วยกรดอะมิโน 6–7 ชนิด แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับกฎนี้ด้วย (8– และ 20– เปปไทด์ เคยถูกพบด้วยเช่นกัน) เปปไทด์มีลักษณะน้ำหนักโมเลกุลขนาดเล็ก (500–1000 Da) เปปไทด์โมเลกุลสั้นสามารถแทรกซึมเข้าไปในผิวหนังชั้นนอกได้ง่ายขึ้น โมเลกุลเชิงเส้นที่มีขนาดยาวหรือโมเลกุลที่มีการแตกแขนงมีความยากที่จะเข้าแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ของชั้น corneum ซึ่งประกอบด้วยเซลล์เคราตินที่ตายแล้วซึ่งทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำในการยึดวัสดุฟิล์มพื้นผิว ฟิล์มเคลือบผิวเป็นปราการด่านแรกของผิว ช่วยป้องกันไม่ให้ผิวแห้งหรือเปียกเกินไป ช่วยชะลอการดูดซึมสารเคมีแปลกปลอม นอกจากนี้เปปไทด์ยังมีความสามารถในการจับกับน้ำทำให้ช่วยในการรักษาความชุ่มชื้นได้ดี ด้วยคุณสมบัตินี้เปปไทด์จึงถูกใช้ในการเพิ่มความชุ่มชื้นและลดเลือนริ้วรอยให้กับผิวหนัง ศักยภาพของรังนกในด้านประสิทธิภาพสําหรับเครื่องสําอาง จากข้อมูลปัจจุบัน คาดการณ์ว่าปี 2563-2566 ตลาดเพื่อสุขภาพและความงามจะเติบโตถึง 6.7% คิดเป็นมูลค่าตลาดรวม 2.18 แสนล้านบาท โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวยังครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 42% รองลงมา คือผลิตภัณฑ์ผม 15% เครื่องสำอาง 12% ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่างกาย 14% น้ำหอม 5% และผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก 12% แต่จากสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับทุกธุรกิจรวมถึงตลาดสุขภาพและความงาม โดยการคาดการณ์ถึงภาพรวมของการเติบโตยังทำได้ยากเนื่องจากความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นแนวทางหนึ่งที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในผู้บริโภคคือการใช้การตลาดนำงานวิจัยเพื่อช่วยพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและความงามให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน จากงานวิจัย พบว่าในสารสกัดที่ได้จากรังนกธรรมชาติจะประกอบด้วย Epidermal Growth Factor (EGF) ซึ่งมีองค์ประกอบเหมือนกับ EGF ในมนุษย์ ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการแบ่งตัวของ เซลล์ผิวหนังชั้นนอกสุด และเยื่อบุต่างๆของคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ EGF สามารถกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ การเจริญเติบโตของเซลล์ และมีประสิทธิภาพในการช่วยซ่อมแซมผิว จากคุณสมบัติดังกล่าวทำให้รังนกมีสมบัติที่เหมาะสมในการนำมาผลิตเป็นวัตถุดิบออกฤทธิ์สำคัญในเครื่องสำอางเพื่อฟื้นฟูสภาพผิว นอกจากนี้นโยบายของสำนักงานอาหารและยาในปัจจุบัน มีความพยายามในการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสารสกัดเข้าสู่มาตรฐานเพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมจากงานวิจัยด้านสารสกัดรังนกกินได้ภายใต้แบรนด์เคยูที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสารสกัดรังนกแท้ให้เข้าสู่ระดับเชิงพาณิชย์ต่อไป ซึ่งมาตรฐานสินค้าเกษตรของรังนก (มกษ.6705-2557) สำหรับเป็นเกณฑ์คัดเลือกรังนกผ่านกระบวนการทำความสะอาดขั้นต้น พร้อมจำหน่ายเพื่อการบริโภค ต้องเป็นรังนกแท้ (วิเคราะห์ด้วย FT-IR และหาโปรตีนรวม) มีสีและกลิ่นตามธรรมชาติ มีความชื้นไม่เกิน 15% มีสารปนเปื้อนและมีปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด ในปัจจุบันการตรวจพิสูจน์รังนกแท้จะวิเคราะห์ด้วย 2 เทคนิค คือ การพิสูจน์เอกลักษณ์ด้วยวิธี FT-IR spectroscopy ร่วมกับการทดสอบโปรตีนด้วยวิธี Kjeldahl ซึ่งทั้งสองเทคนิค จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และอุปกรณ์หลายชนิด วิธี Kjeldahl ยังคงต้องใช้สารเคมี ตัวอย่างรักนกที่ผ่านการทดสอบโปรตีนด้วยวิธีนี้จะถูกทำลาย และใช้เวลาในการทดสอบรวม 6-15 วัน (รหัสทดสอบ FF-FN-BIR-001, รังนก (วิเคราะห์โดยคุณภาพ) ดังนั้นการพัฒนาวิธีการตรวจสอบคุณภาพและพิสูจน์เอกลักษณ์รังนกแท้จึงยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยต้องพัฒนาให้วิเคราะห์ได้รวดเร็วขึ้นและใช้เทคนิคเพียงเทคนิคเดียว เราจึงเล่งเห็นการนำเทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี (Near-Infrared spectroscopy; NIR) มาประยุกต์ใช้ ด้วยเป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้วิเคราะห์คุณภาพและวิเคราะห์ปริมาณในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย โดยการประยุกต์ใช้เทคนิค NIR ในการตรวจสอบรังนกแท้และรังนกปลอมปนในประเทศอินโดนีเซีย และสามารถคัดแยกได้ถูกต้องกว่า 96% ด้วยความเชี่ยวชาญที่เรามีในด้าน NIR กิจกรรมนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีทางเลือกใหม่โดยการใช้เทคนิค NIR เพียงเทคนิคเดียวในการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์รักนกแท้และวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนรวมในตัวอย่างรังนกได้ในคราวเดียวกัน ซึ่งประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณเพราะใช้เครื่อง NIR spectrometer เพียงเครื่องเดียวในการวิเคราะห์ เป็นการสร้างวิธีการวิเคราะห์ใหม่ ยกระดับคุณภาพการตรวจสอบเพื่อให้ผลิตภัณฑ์รังนกมีการแข่งขันด้านคุณภาพและลดการปลอมปนส่งเสริมความปลอดภัย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มมูลค่าให้แก่รังนกซึ่งเป็นผลิตผลสำคัญที่ได้จากนกแอ่นกินรังโดยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และสารสำคัญที่มีมูลค่าสูงขึ้นซึ่งจะประกอบด้วย 1) สารสกัดรีจูวิเนตเปปไทด์ 2) NANA 3) นีโอโซมรีจูวิเนตเปปไทด์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอางประกอบด้วย 1) เครื่องสำอางบำรุงผิวผสมรีจูวิเนตเปปไทด์ต้านอนุมูลอิสระ 2) นาโนเวชสำอางฟื้นฟูผิวคุณภาพสูงผสมนีโอโซมรีจูวิเนตเปปไทด์ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนและสร้างรายได้ให้แก่ภาคเกษตรกรเลี้ยงรังนก ผู้ประกอบในอุตสาหกรรมสารสกัดและอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพและเครื่องสำอาง รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มมูลค่าการการจำหน่ายภายในประเทศและการส่งออกไปยังประเทศที่นิยมบริโภคและใช้ผลิตภัณฑ์จากรังนก เช่น ประเทศจีนได้ ตลอดจนพัฒนาวิธีการตรวจสอบรังนกแท้และวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนรวมได้ในคราวเดียวกันโดยใช้เทคนิค NIR

วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาองค์ประกอบหลักทางชีวเคมีด้วยวิธีทางเคมี และพัฒนาวิธีการตรวจสอบรังนกแท้และวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนรวมในรังนกนางแอ่นเคยูอย่างรวดเร็วด้วยคลื่นแสงเนียร์อินฟราเรด 2. เพื่อศึกษาการผลิตรีจูวิเนตเปปไทด์คุณภาพสูงจากรังนกนางแอ่นเคยูด้วย Green technology เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเวชสำอาง 3. เพื่อศึกษาการผลิต N-Acetylneuraminic Acid (NANA) จากรังนกนางแอ่นเคยูด้วย Green technology เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเวชสำอาง 4. เพื่อผลิตนีโอโซมในการนำส่งสารรีจูวิเนตเปปไทด์จากรังนกนางแอ่นเคยูที่ให้สรรพคุณด้านการชะลอริ้วรอย เสริมสร้างอิลาสตินและคอลลาเจน 5. เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิวต้นแบบที่มีส่วนผสมของรีจูวิเนตเปปไทด์ต้านอนุมูลอิสระ 6. เพิ่อพัฒนานาโนเวชสำอางฟื้นฟูผิวคุณภาพสูงผสมนีโอโซมรีจูวิเนตเปปไทด์ (PRIME skin rejuvenating peptide and NANA from KU Swallow’s nest) 7. เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการตลาดของของสารรีจูวิเนตเปปไทด์, N-Acetylneuraminic Acid (NANA), นีโอโซมรีจูวิเนตเปปไทด์ และผลิตภัณฑ์นาโนเวชสำอางฟื้นฟูผิวคุณภาพสูงผสมนีโอโซมรีจูวิเนตเปปไทด์

Abstract

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่รังนกโดยการสกัดสารสำคัญ 1) สารสกัดรีจูวิเนตเพพไทด์ 2) สารสกัด N-Acetylneuraminic Acid (NANA) 3) นีโอโซมรีจูวิเนตเพพไทด์ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ 1) เครื่องสำอางบำรุงผิวผสมรีจูวิเนตเพพไทด์ต้านอนุมูลอิสระ และ 2) นาโนเวชสำอางผสมนีโอโซมรีจูวิเนตเพพไทด์ ตลอดจนพัฒนาวิธีการตรวจสอบรังนกแท้และวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนรวมได้ในคราวเดียวกันโดยใช้เทคนิค NIR ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเลี้ยงรังนก ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสารสกัดและอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพและเครื่องสำอาง รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มมูลค่าการจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศที่นิยมบริโภคและใช้ผลิตภัณฑ์จากรังนก เช่น ประเทศจีน จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในอุตสาหกรรมและการแข่งขัน และการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน (SWOT) พบว่าตลาดของผลิตภัณฑ์สารสกัดรังนก เป็นตลาดที่มีความน่าสนใจในการเข้าลงทุนและมีโอกาสทางการตลาดค่อนข้างสูง เนื่องจากมีความเสี่ยงทางด้านอุตสาหกรรมน้อย อีกทั้งการเข้าสู่ตลาดของคู่แข่งหน้าใหม่เข้าได้ยาก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทั้งภายในและต่างประเทศนิยมใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติมากขึ้น เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสารเคมีสังเคราะห์ในเครื่องสำอาง และความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งความเชื่อมั่นในภาพลักษณ์ที่ดีของรังนกจึงไม่ยากที่จะยอมรับผลิตภัณฑ์จากสารสกัดรังนก ดังนั้นสารสกัดจากรังนกจึงมีความเป็นไปได้ทางการตลาด แต่ควรมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศ เนื่องจากความต้องการภายในประเทศยังมีน้อย และควรมุ่งเน้นการพัฒนาด้านคุณสมบัติ ประสิทธิภาพ และการสร้างความน่าเชื่อถือของสารสกัด งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาด้วยฟูเรียร์ทรานส์ฟอร์มเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี (FT-NIR) สำหรับการตรวจพิสูจน์รังนกแอ่นแท้ในรังนกแอ่นล้างสะอาดและเครื่องดื่มรังนกแอ่น และสำหรับการวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนรวมในรังนกแอ่นล้างสะอาด ตัวอย่างทั้งหมดถูกแปรรูปเป็นผงแห้งและรวบรวมข้อมูลสเปกตรัม NIR โดยใช้เครื่อง FT-NIR สเปกโตรมิเตอร์ในช่วงเลขคลื่นตั้งแต่ 11536 – 3952 cm-1 วิธี FT-NIR ที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจพิสูจน์รังนกแอ่นแท้เกิดจากการพัฒนาสมการจำแนกกลุ่มด้วยการวิเคราะห์ถดถอยน้อยที่สุดบางส่วน (partial least square discriminant analysis; PLSDA) โดยใช้สเปกตรัม NIR ที่ปรับแต่งด้วยวิธี standard normal variate (SNV) สมการ PLSDA-SNV เหล่านี้สามารถตรวจพิสูจน์ในรังนกแอ่นล้างสะอาดและเครื่องดื่มรังนกแอ่นชุดควบคุมที่ทราบปริมาณเนื้อรังนกซึ่งเป็นตัวอย่างชุดทดสอบได้ถูกต้อง 100% นอกจากนี้ได้ทำการพัฒนาสร้างสมการการวิเคราะห์แบบกำลังสองน้อยที่สุดบางส่วน (PLS) สำหรับใช้วิเคราะห์ปริมาณโปรตีนรวมในรังนกแอ่นล้างสะอาด โดยเปรียบเทียบระหว่างสมการที่สร้างจากข้อมูลสเปกตรัม NIR ดั้งเดิมและที่ปรับแต่งแล้ว พบว่าสมการ PLS-SNV มีความสามารถในการวิเคราะห์โปรตีนรวมได้แม่นยำที่สุด จะให้ค่าความผิดพลาดมาตรฐานสำหรับการทำนาย (standard error for prediction; SEP) เป็น 0.333% และค่าสัมประสิทธิ์การวิเคราะห์ (coefficient of determination; R2) เท่ากับ 0.95 ผลการวิจัยทั้งหมดแสดงให้เห็นทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับการนำเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปีมาใช้ในการประกันคุณภาพรังนกแอ่นและผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรังนกแอ่น ในการสกัดสารสำคัญจากรังนกแอ่น ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบปริมาณของ NANA อิสระ และทั้งหมดของตัวอย่างรังนก 2 ชนิด คือ รังนกแอ่นชนิดคุกกี้ และรังนกแอ่นชนิดกะเทย พบว่าปริมาณ NANA อิสระ และทั้งหมดของตัวอย่างรังนกแอ่นชนิดคุกกี้ (4.66 และ 122.43 มิลลิกรัมต่อกรัม ตามลำดับ) มีค่าสูงกว่ารังนกกะเทยเล็กน้อย (3.49 และ 118.00 มิลลิกรัมต่อกรัม ตามลำดับ) ดังนั้น จึงเลือกรังนกแอ่นชนิดคุกกี้สำหรับการสกัด NANA ด้วยกรดไฮโดรคลอริก ความเข้มข้น 0.1 โมลาร์ นาน 2 ชั่วโมง จะได้สารสกัด NANA ที่มีปริมาณ NANA 113.24 มิลลิกรัมต่อกรัม นอกจากนี้ ได้พัฒนากระบวนการผลิตรีจูวิเนตเพพไทด์จากรังนกด้วยเอนไซม์ โดยศึกษาชนิดของเอนไซม์และสภาวะที่เหมาะสม จะได้ผงรีจูวิเนตเพพไทด์ที่มีปริมาณโปรตีน 66.52% กรดอะมิโนทั้งหมด 53.98 มิลลิกรัม/100มิลลิกรัม โดยมีกรดแอสพาร์ติกมากที่สุด 5.30 มิลลิกรัม/100มิลลิกรัม ไม่พบเชื้อจุลินทรีย์และไม่พบตะกั่ว สารหนู และปรอท ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ไฟโบรบลาสท์ผิวหนังของมนุษย์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี ABTS และมีศักยภาพในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไฮยารูโลนิเดสได้ดีที่สุด จากนั้นนำผงรีจูวิเนตเพพไทด์มากักเก็บในรูปแบบนีโอโซมด้วยเทคนิคการสร้างฟิล์มเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง จะได้นีโอโซมที่กักเก็บสารรีจูวิเนตเพพไทด์ที่มีลักษณะปรากฏเป็นผงแห้งสีเหลืองนวล นีโอโซมมีลักษณะทรงกลมผนังเซลล์สองชั้น ขนา

Outputs

Conference

# Internation Conference
1 นางสาวสุนีย์ จึงธีรพานิช, นายไกรฤกษ์ โง้วสุวรรณ, บุษบา ปัญญาชน, ศิริมาดา มงคลวิทย์, นางสาวกัญญารัตน์ นิที, ดร.ศุมาพร เกษมสำราญ, "Quantitative determination of protein in swiftlet nest by using near-infrared spectroscopy", The 8th Asian NIR Symposium 2022 (ANS2022), ปีที่ undefined, ฉบับที่ undefined, พฤศจิกายน - พฤศจิกายน 2022, หน้า undefined - undefined
2 นางสาวพรพิมล จันทร์ฉาย, ดร.พิลาณี ไวถนอมสัตย์, นางสาวจิราภรณ์ มีลักษณะ, นางสาวอันธิกา บุญแดง, นางสาวชนาพร ตระกูลแจะ, ดร.วราภรณ์ อภิวัฒนาภิวัต, "Optimization of enzymatic hydrolysis condition of edible bird’s nest using plant enzymes to obtain maximum antioxidant activity", ASEAN Bioenergy and Bioeconomy Conference 2022 (ABB 2022), ปีที่ undefined, ฉบับที่ undefined, กันยายน - กันยายน 2022, หน้า undefined - undefined
3 ดร.จารุพร รักใหม่, ดร.ศุมาพร เกษมสำราญ, นายไกรฤกษ์ โง้วสุวรรณ, นางสาวสุนีย์ จึงธีรพานิช, "Selection of edible bird’s nest type and effects of amplitude and time of sonication on N-acetylneuraminic acid (NANA) content through ultrasonic assisted extraction", ASEAN Bioenergy and Bioeconomy Conference 2021, ปีที่ undefined, ฉบับที่ undefined, ตุลาคม - ตุลาคม 2021, หน้า undefined - undefined

API url