รายละเอียดโครงการ

  • แหล่งทุน: [object Object]
  • ปีงบประมาณ: 2018
  • ลักษณะโครงการ: โครงการย่อยในชุดโครงการ "การศึกษาระบบการทำไม้เพื่อการจัดการสวนป่าสักอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา จังหวัดแพร่"
  • ประเภทโครงการ: โครงการวิจัยสาขาเกษตรศาสตร์
  • หัวหน้าโครงการ: ดร.ขรรค์ชัย ประสานัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์
  • ผู้ร่วมวิจัย:

ความเป็นมาของโครงการ

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติคือการรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในเกิดประโยชน์สูงสุดและมีการสูญเสียน้อยที่สุด อาจหมายความรวมถึงการใช้แล้วมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ น้อยที่สุด ทรัพยากรป่าไม้เป็นทรัพยากรที่สามารถทดแทนได้ (renewable natural resources) ในประเทศไทยได้ประกาศยกเลิกการทำไม้ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 แต่อย่างไรก็ตามความต้องการใช้ไม้ยังคงมีอยู่และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น กิจกรรมการทำไม้ในปัจจุบันสามารถกระทำได้ในพื้นที่สวนป่าหรือป่าปลูก ป่าปลูกจึงมีความสำคัญมากในสังคมปัจจุบันทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ป่าปลูกถือเป็นแหล่งผลิตไม้ที่สำคัญ นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน ทำหน้าที่ปกป้องทรัพยากรดินและน้ำ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ ก่อให้เกิดการสร้างงานกับชุมชนท้องถิ่น และดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ (Savill et al. 1997; Siry et al. 2001; Carle et al. 2002; Evans and Turnbull 2003) การทำไม้นั้นมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของวิธีการทำไม้ และระบบการทำไม้ (อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรกล) ดังนั้นผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อมย่อมส่งผลแตกต่างกัน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำไม้ในรูปแบบที่แตกต่างกันของสวนป่า เพื่อให้สวนป่ายังได้ประโยชน์สูงต่อการจัดการสวนป่าแต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หรือที่เรียกว่าการลดผลกระทบจากการทำไม้ ดังนั้นงานวิจัยครั้งนี้จึงศึกษาตัวอย่างการทำไม้ในสวนป่าสักขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่มีรูปแบบการทำไม้ในหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันและทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการจัดการสวนป่าในอนาคตต่อไป

วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาผลกระทบจากการทำไม้ในพื้นที่สวนป่าสักต่อสิ่งแวดล้อมขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 2. เพื่อหารูปแบบการทำไม้ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดในพื้นที่สวนป่าสัก

Abstract

กิจกรรมการทำไม้ในปัจจุบันสามารถกระทำได้ในพื้นที่สวนป่าหรือป่าปลูก ป่าปลูกจึงมีความสำคัญมากในสังคมปัจจุบันทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ป่าปลูกถือเป็นแหล่งผลิตไม้ที่สำคัญ นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน ทำหน้าที่ปกป้องทรัพยากรดินและน้ำ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ ก่อให้เกิดการสร้างงานกับชุมชนท้องถิ่น และดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ การทำไม้นั้นมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของวิธีการทำไม้ และระบบการทำไม้ (อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรกล) รวมทั้งลักษณะของพื้นที่ ดังนั้นผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อมย่อมส่งผลแตกต่างกัน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำไม้ในรูปแบบที่แตกต่างกันของสวนป่า เพื่อให้สวนป่ายังได้ประโยชน์สูงต่อการจัดการสวนป่าแต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หรือที่เรียกว่าการลดผลกระทบจากการทำไม้ ดังนั้นงานวิจัยครั้งนี้จึงศึกษาตัวอย่างการทำไม้ในสวนป่าสักขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่มีรูปแบบการทำไม้ในหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันและทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เพื่อศึกษาผลกระทบจากการทำไม้ในพื้นที่สวนป่าสักต่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อหารูปแบบการทำไม้ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดในพื้นที่สวนป่าสัก ทำการศึกษารูปแบบการทำไม้ในสวนป่าสัก 4 สวนในจังหวัดแพร่ คือ สวนป่าขุนแม่คำมี สวนป่าแม่คำปอง สวนป่าวังชิ้นและสวนป่าแม่สรอย ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม ใน 4 ด้านคือ มีผลต่อความหลากหลายของพืชและสัตว์ป่า คุณภาพของน้ำและสมบัติกายภาพของดิน ผลการศึกษาด้านผลกระทบต่อดัชนีความหลากหลายของพืชทั้ง 4 สวนป่าพบว่าไม้หนุ่มในแปลงทำไม้มีความดัชนีความหลากหลายลดน้อยลง เนื่องจากในช่วงการทำไม้นั้นไม้หนุ่มถูกกระทบจากรูปแบบการทำไม้เช่น การชักลากหรือเครื่องมือที่เข้าไปทำงานในพื้นที่ ทำให้ไม้หนุ่มถูกโค่นหรือหายไปจากบริเวณพื้นที่ การศึกษาพื้นที่สวนป่าขุนแม่คำมีและสวนป่าแม่คำปอง เป็นสวนป่าที่มีลักษณะสวนป่าบนที่สูงและมีลักษณะความลาดชันมากกว่าสวนป่าวังชิ้นและสวนป่าแม่สรอย แต่ลักษณะของการกิดผลกระทบกับชนิดไม้ในแปลงที่มีการทำไม้ ไม่ได้แตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงเกิดมาจากลักษณะของการทำไม้ เช่น คนล้มไม้ต้องคำนึงทิศทางการล้มไม้ที่จะส่งผลต่อไม้ข้างเคียง เน้นการล้มไม้ไปยังทิศทางที่มีช่องวางมากที่สุด และรูปแบบการชักลากไม้ออกจากแปลงทำไม้ ผลกระทบต่อดัชนีความหลากหลายของสัตว์ป่าในพื้นที่สวนป่า สัตวป่าทั้ง 4 กลุ่ม ได้รับผลกระทบจากการทำไม้น้อยมาก ซึ่งชนิดพันธุ์ที่สำรวจพบนั้นส่วนใหญ่เป็นชนิดพันธุ์ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ได้หลายรูปแบบ ผลกระทบต่อความหนาแน่นรวมของดิน จากการศึกษาพบว่า ความหนาแน่นรวมของดินบนก่อนและหลังการทำไม้ในแปลงรูปแบบต่าง ๆ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) จะเห็นได้ว่ารูปแบบการทำไม้ที่แตกต่างกันไม่มีผลต่อความหนาแน่นรวมของดินทั้ง 4 สวนป่า ผลกระทบต่ออัตราการซึมน้ำผ่านผิวดินผลการศึกษาพบว่าหลังการทำไม้ออกจากพื้นที่โดยวิธีการต่างๆ มีผลทำให้สมรรถนะการซึมน้ำผ่านผิวดินลดลงในเกือบทุกแปลง ผลกระทบต่อการชะล้างพังทลายของดินโดยใช้สมการ USLE เมื่อเปรียบเทียบแปลงเลือกตัด (clear cutting/selection cutting) ของแต่ละสวนป่า พบว่า อัตราการชะล้างพังทลายของดิน (A) (ตัน/เฮคแตร์/ปี) ของสวนป่าแม่คำปองมีค่ามากที่สุดเท่ากับ 120.39 ตัน/เฮคแตร์/ปี รองลงมาคือ สวนป่าขุนแม่คำมี สวนป่าแม่สรอย และสวนป่าวังชิ้น ตามลำดับ ผลกระทบต่อคุณภาพน้ำบางประการ พบว่า หลังการทำไม้ในช่วงต้นฤดูฝนและช่วงปลายฤดูฝน ค่าปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) ของแปลงทำไม้ทุกแปลงของทุกสวนป่ามีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำผิวดินประเภทที่ 3ส่วนปริมาณตะกอนแขวนลอย (SS) ในแต่ละจุดตัวแทนเก็บตัวอย่างน้ำของแต่ละสวนป่า พบว่า มีค่าปริมาณตะกอนแขวนลอยต่ำมากโดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูฝน แต่บริเวณหมอนไม้ของสวนป่าแม่คำปองพบว่า มีค่าตะกอนแขวนลอยสูงกว่าจุดเก็บน้ำบริเวณอื่น เนื่องจากพื้นที่ที่ทำเป็นหมอนไม้อยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติมาก ดังนั้นควรมีการพิจารณาในการเลือกบริเวณหมอนไม้ที่ไกลจากแหล่งน้ำ หรือในกรณีที่แปลงทำไม้อยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ ควรมีการปลูกแฝกบริเวณริมน้ำเพื่อลดปริมาณตะกอนที่จะลงสู่แหล่งน้ำ

Outputs

API url