รายละเอียดโครงการ
- แหล่งทุน: [object Object]
- ปีงบประมาณ: 2017
- ลักษณะโครงการ: โครงการเดี่ยว
- ประเภทโครงการ: โครงการวิจัยสาขาเกษตรศาสตร์
- หัวหน้าโครงการ: ดร.ปิยวัตน์ ดิลกสัมพันธ์, อาจารย์
- ผู้ร่วมวิจัย:
ความเป็นมาของโครงการ
ไม้สักถือเป็นไม้เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้ในการก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยเหตุที่เป็นไม้ที่มีความทนทานต่อการเข้าทำลายของแมลง และมีเนื้อไม้ที่ใส่กลบตบแต่งง่าย จึงมีผู้นำไปใช้ในการผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก จึงเป็นที่ต้องการอย่างมากในอุตสาหกรรมที่ใช้ไม่เป็นวัตถุดิบ อย่างไรก็ตามวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมไม้สักนั้นยังคงมีปริมาณไม้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ด้วยที่ไม้สักได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นไม้หวงห้าม การตัดฟันมาใช้ประโยชน์ต้องได้รับอนุญาต ส่งผลให้มีผู้ประกอบการที่จะลงทุนในการปลูกสร้างสวนป่ามีเพียงน้อยราย อีกทั้งไม้สักมีรอบตัดฟันที่ยาวนาน ถึง 30 ปี จึงทำให้มีเกษตรกรที่สนใจลงทุนเป็นจำนวนน้อย ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงส่งผลให้ราคาไม้สักที่เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้สักมีราคาสูงไปด้วย
องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ถือเป็นองค์กรหลักที่ดำเนินการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้สักอย่างครบวงจรตั้งแต่การปลูกสวนป่าจนถึงการจัดตั้งโรงงานแปรรูปไม้สักเพื่อจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญที่ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ไม้สักเป็นวัตถุดิบ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า กิจกรรมการทำไม้ที่จะนำไม้ออกจากป่ามาสู่ตลาดยังคงใช้เทคโนโลยีที่ดัดแปลงมาจากการทำไม้จากป่าธรรมชาติในอดีต รวมถึงการดัดแปลงวิธีการ เครื่องมือ และเครื่องจักรในการทำไม้ตามความสอดคล้องต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยที่เครื่องมือเครื่องจักรในการทำไม้นั้น ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และมีมูลค่าสูงมากที่จะลงทุน ซึ่งกิจกรรมการทำไม้นั้นถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมไม้สักที่ถือเป็นกิจกรรมที่มีส่วนแบ่งในเรื่องของต้นทุนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนในการปลูกสร้างสวนป่าไม้สัก จึงถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จากไม้สักในท้องตลาดมีราคาที่สูงในอีกทางหนึ่งด้วย
กระบวนการในการทำไม้สัก เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการล้มไม้ การชักลากถอนตอ การหมายวัดตัดทอน การขนส่งตอนป่า และการขนส่งระยะไกลไปสู่โรงงานหรือตลาดกลาง ในแต่ละขั้นตอนมีวิธีการดำเนินการที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพของแรงงาน และความพร้อมของเครื่องมือเครื่องจักร รวมไปถึงสภาพพื้นที่ปลูกสวนป่าไม้สัก มักอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเขา จึงส่งผลให้การดำเนินการมีความหลากหลาย และค่อนข้างยากที่จะระบุระบบการทำไม้ที่แน่นอน จึงถือเป็นเหตุปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดต้นทุนในการทำไม้ ดังนั้นหากได้มีการศึกษาถึงรูปแบบของโครงสร้างของระบบการทำไม้เพื่อให้เกิดความเข้าใจในขั้นตอนการทำงานในแต่ละขั้นตอน รวมถึงรูปแบบและต้นทุนที่ถูกใช้ในกิจกรรมการทำไม้ในแต่ละขั้นตอน โดยทำการศึกษาโซ่อุปทานของอุตสากรรมผลิตภัณฑ์ไม้สัก รวมถึงการวิเคราะห์กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ในแต่ละกระบวนของการทำไม้ ซึ่งน่าจะทำให้เห็นถึงปัญหาในการทำงาน เพื่อที่จะได้วิเคราะห์หาแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการในการทำไม้ให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อต้นทุนที่ใช้ในการทำไม้ต่อไป
วัตถุประสงค์
1) ศึกษาโครงสร้างการเชื่อมโยงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้สัก
2) วิเคราะห์ต้นทุนและปัญหาด้านกระบวนการของระบบโลจิสติกส์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้สัก
3) เสนอแนวทางพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดการระบบโลจิสติกส์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้สัก
Abstract
การศึกษาแนวทางการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้สัก มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาโครงสร้างการเชื่อมโยงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ วิเคราะห์ต้นทุนและปัญหาด้านกระบวนการ และเสนอแนวทางพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดการระบบโลจิสติกส์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้สัก ดำเนินการรวบรวมข้อมูล ด้วยการตรวจเอกสาร การสังเกต และการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง โดยใช้กรณีศึกษาจากสวนป่าไม้สัก จำนวน 3 สวนป่า อันประกอบด้วย สวนป่าวังชิ้น สวนป่าขุนแม่คำมี และสวนป่าแม่แฮด ภายใต้การดูแลของอุตสาหกรรมป่าไม้เขตแพร่ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไม้สักในจังหวัดแพร่
ผลการศึกษาทำให้ทราบถึงโครงสร้างของโซ่อุปทานด้านผู้ใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย สวนป่า โรงเลื่อย สหกรณ์ ผู้ค้าไม้ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ผู้ค้าไม้รายย่อย ผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์รายย่อย บริษัทพลังงาน/โรงไฟฟ้า โรงงานอัดถ่านก้อน และประชาชนทั่วไป โครงสร้างด้านผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย ต้นสัก ลำต้น ปลาย/กิ่ง ไม้ท่อน ไม้ตกเกรด ไม้แปรรูป ไม้อัดประสาน เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ไม้สักขนาดเล็ก ขี้เลื่อย และเศษไม้ สำหรับการศึกษาขั้นตอนการดำเนินงานของโครงสร้างของโซ่อุปทาน ได้ดำเนินการ ได้ศึกษา ใน 3 ส่วน ได้แก่ 1) สวนป่า ได้ทราบขั้นตอนการดำเนินงานของสวนป่า การประมูลไม้และการจำหน่ายตรงไม้สักของสวนป่า 2) โรงเลื่อย ได้ทราบขั้นตอนการติดต่อประสานกับสวนป่า การดำเนินงานของโรงเลื่อยและการแปรรูป และ 3) สหกรณ์ ได้ทราบขั้นตอนการดำเนินงานของสหกรณ์โดยรวม สำหรับการศึกษาต้นทุนการจัดการโลจิสติกส์และอุปทาน ในส่วนของสวนป่า ประกอบด้วยต้นทุนในขั้นตอน หมายคัดเลือก โค่นล้ม ชักลาก รวมหมอน หมายวัดตัดทอน และเผ้ารักษาไม้ รวมในอัตราระหว่าง 1,050-1,100 บาท/ลบ.ม. ในส่วนของโรงเลื่อยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มีต้นทุนตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การคัดเกรด เปิดปีกไม้ เลื่อยสายพาน ตัดตามขนาด คัดแยกคุณภาพ นับจำนวน อบแห้ง และลงบัญชี ในอัตรา 643.98 บาท/ลบ.ฟ. การศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้สักนั้น ทางด้านการไหลของผลิตภัณฑ์ไม้สัก พบปัญหาหลักมาจากนโยบายและกฎหมาย จำเป็นที่ต้องดำเนินการวิเคราะห์และปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับให้เหมาะสม รัดกุมและเป็นปัจจุบัน ปัญหาความยุ่งยากในการทวนสอบไม้ท่อน การแปรรูปเศษไม้ปลายไม้ เครื่องจักรกล จำเป็นต้องจัดหาหรือพัฒนาเทคโนยีใหม่ๆ มาสนับสนุน ทางด้านการไหลของข้อมูล พบว่าปัญหามาจากการขาดการประสานงาน ความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานด้านเอกสาร ระบบบัญชีที่ขาดความทันสมัย มีความจำเป็นในการวิเคราะห์ ออกแบบกระบวนการ รวมถึงพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ ด้านชุมชน พบปัญหาความเข้าใจในการรวมกลุ่มของชุมชนในรูปของสหกรณ์แปรรูปไม้ ความไม่มั่นใจในการลงทุนปลูกสร้างสวนป่าของภาคเอกชน จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจและหามาตรการในการสร้างความมั่นใจ ด้านการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ไม้สัก พบว่า ขาดเทคโนโลยีการแปรรูปสำหรับผู้ผลิตรายย่อย ความเข้าใจที่แท้จริงด้านความต้องการของตลาด การวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย และกดราคาของพ่อค้าคนกลาง จำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการแก้ปัญหาในภาพรวม