รายละเอียดโครงการ

  • แหล่งทุน: [object Object]
  • ปีงบประมาณ: 2015
  • ลักษณะโครงการ: โครงการเดี่ยว
  • ประเภทโครงการ: โครงการวิจัยและถ่ายทอดงานวิจัยสู่ประชาชน(สำหรับศูนย์วิจัย/สถานีวิจัยในสังกัดของ มก.)
  • หัวหน้าโครงการ: ดร.ชาคริต ณ ตะกั่วทุ่ง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์
  • ผู้ร่วมวิจัย:
  • url: http://eng.forest.ku.ac.th/index.php/th/article/200-app

ความเป็นมาของโครงการ

ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งแหล่งให้ความรู้ทางด้านชนิดพันธุ์ไม้ป่าแก่ประชาชนทั่วไป ในรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน เช่น สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี และสวนรวมพรรณไม้ป่า เป็นต้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถือเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลแหล่งเรียนรู้ดังกล่าวในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีสวนพฤกษศาสตร์ทั้งหมด 8 แห่ง สวนรุกขชาติ 56 แห่ง สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี 4 แห่ง สวนรวมพรรณไม้ป่า 4 แห่ง (สำนักหอพรรณไม้, 2556) นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่ได้จัดพื้นที่ในการเผยแพร่ความรู้ด้านพรรณไม้เช่นกัน เช่น องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น โดยรูปแบบการให้บริการประชาชน โดยทั่วไปจะเป็นการปลูกรวบรวมพรรณไม้ต่าง ๆ มีเส้นทางเดินชม และมีป้ายข้อมูลพรรณไม้ติดไว้ที่ต้นไม้ ซึ่งโดยปกติจะมีข้อมูลเบื้องต้น ประกอบด้วย ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อวงศ์ และข้อมูลเชิงบรรยายอีกบางส่วน จำนวนข้อมูลจะถูกกำหนดโดยขนาดของป้ายสื่อความหมายซึ่งขึ้นอยู่กับงบประมาณของหน่วยงานแต่ละแห่ง พื้นที่ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น มีข้อจำกัดในการนำเสนอข้อมูลพันธุ์ไม้ ทั้งในเรื่องของงบประมาณและความทนทานของวัสดูที่นำมาใช้เป็นป้าย ซึ่งต้องมีคุณสมบัติที่ทนต่อสภาพอากาศที่หลากหลาย ทั้งแสงแดด ความร้อน และความชื้น นอกจากนี้รูปแบบการนำเสนอ อาจดึงดูดเฉพาะคนที่สนใจบางกลุ่มเท่านั้น เพราะเป็นการเดินศึกษาตามเส้นทาง ซึ่งไม่สามารถทราบได้ว่า ระยะทางในแต่ละจุดสนใจ ห่างกันเท่าไร ได้เรียนรู้เฉพาะข้อมูลเบื้องต้นของพันธุ์ไม้ งานวิจัยนี้จึงมีแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน ซึ่งมีความสามารถที่จะพัฒนาโปรแกรมประยุกต์เข้าไปใช้งานร่วมกับโทรศัพท์ รวมถึงตัวโทรศัพท์มีคุณสมบัติในการระบุพิกัดภูมิศาสตร์บนพื้นผิวโลกได้ มาใช้ร่วมกับการเดินศึกษาพันธุ์ไม้ในรูปแบบเดิม ข้อมูลเชิงลึกสามารถนำเสนอผ่านโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น ผู้ใช้สามารถวางแผนการเดินศึกษาพันธุ์ไม้ไปยังเฉพาะจุดที่สนใจได้ โดยเลือกพัฒนาบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เนื่องจากเป็นระบบปฏิบัติการที่แพร่หลายในตลาด อุปกรณ์โทรศัพท์มีหลายราคา มีผู้ใช้ในทุกระดับตั้งแต่ราคาไม่กี่พันบาทจนถึงราคามากกว่าสองหมื่นบาท ซึ่งโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น สามารถเข้าถึงผู้ใช้เหล่านี้ได้โดยง่าย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เองมีพื้นที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ ทั้งในรูปแบบของวิทยาเขต สถานีวิจัย สถานีฝึกนิสิต และ ศูนย์วิทยบริการ บางพื้นที่มีการจัดการเผยแพร่ความรู้ด้านพันธุ์ไม้ในรูปแบบของสวนรุกขชาติ หรือบางครั้งก็จัดเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ซึ่งมีพันธุ์ไม้อยู่ข้างเส้นทาง มีการจัดป้ายสื่อความหมายขนาดเล็กเพื่อเผยแพร่ความรู้ สวนรวมพันธุกรรมไม้ป่าเฉลิมพระเกียรติ ร.9 สถานีฝึกนิสิตวนศาสตร์วังน้ำเขียว ถูกเลือกให้เป็นพื้นที่ศึกษา เนื่องจากเป็นพื้นที่บริการทางวิชาการแก่ประชาชนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีพื้นที่ติดกับพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช มีผู้ที่สนใจศึกษาด้านพันธุ์ไม้เข้าออกพื้นที่เป็นประจำ ซึ่งสามารถใช้เป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนา หากประสบความสำเร็จก็จะสามารถขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และแหล่งเรียนรู้ภายใต้หน่วยงานอื่นได้ต่อไป

วัตถุประสงค์

1) เพื่อศึกษารวบรวมพันธุ์ไม้และพิกัดของต้นไม้สำคัญที่ควรนำเสนอข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้สนใจ ในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติของสวนรวมพันธุกรรมไม้ป่าเฉลิมพระเกียรติ ร.9 2) เพื่อพัฒนาโปรแกรมประยุกต์บนโทรศัพท์ระบบปฏิบัตการแอนดรอยด์แสดงพิกัดและข้อมูลของพันธุ์ไม้ 3) เพื่อพัฒนารูปแบบการนำเสนอข้อมูลที่เหมาะสมต่อผู้ที่สนใจ

Abstract

การศึกษานี้ได้นำเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน มาประยุกต์ใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการของศาสตร์ด้านป่าไม้ โดยการพัฒนาโปรแกรมคู่มือการเรียนรู้พรรณไม้บนโทรศัพท์มือถือในพื้นที่สวนรวมพันธุกรรมไม้ป่าเฉลิมพระเกียรติ ร.9 สถานีฝึกนิสิตวนศาสตร์วังน้ำเขียว ซึ่งเป็นการย้ายการแสดงผลข้อมูล จากป้ายสื่อความหมาย ไปแสดงบนโทรศัพท์มือถือ และมีการอ้างอิงตำแหน่งต้นไม้จากพิกัดภูมิศาสตร์มาใช้ร่วมเพื่อแสดงตำแหน่งของต้นไม้ด้วย เก็บข้อมูลเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และพรรณไม้ที่น่าสนใจ มีขนาดความโตและระยะห่างระหว่างต้นที่เหมาะสม ออกแบบฐานข้อมูลเพื่อจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ในฐานข้อมูล จากนั้นพัฒนาโปรแกรมเพื่อนำเสนอข้อมูลพรรณไม้และตำแหน่งต้นไม้ ผลการศึกษาพบจำนวนต้นไม้ที่เหมาะสมนำมาใช้ในโปรแกรมจำนวน 53 ต้น 32 ชนิด 16 วงศ์ จากนั้นออกแบบฐานข้อมูลเพื่อเก็บข้อมูลพรรณไม้โดยใช้หลักการข้อมูลเชิงสัมพันธ์ได้เป็น 3 ตาราง จัดทำฐานข้อมูลใน MySQL จัดทำโปรแกรมประยุกต์บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้ 5 เมนูหลัก ซึ่งสามารถดึงข้อมูลจาก MySQL มาแสดงตำแหน่งของต้นไม้ และข้อมูลของพรรณไม้ได้มากกว่าป้ายสื่อความหมายในรูปแบบเดิม และได้เผยแพร่โปรแกรมผ่านทาง Play Store เรียบร้อยแล้ว

Outputs

Conference

# Conference
1 ดร.ชาคริต ณ ตะกั่วทุ่ง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์, ดร.ปิยวัตน์ ดิลกสัมพันธ์, อาจารย์, "การพัฒนาโปรแกรมคู่มือเรียนรู้ชนิดไม้ต้นในสวนรวมพันธุกรรมไม้ป่าเฉลิมพระเกียรติร.9 สถานีฝึกนิสิตวนศาสตร์วังน้ําเขียวบนโทรศัพท์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์", การประชุมการป่าไม้ประจำปี พ.ศ.2560, ปีที่ undefined, ฉบับที่ undefined, กันยายน - กันยายน 2017, หน้า undefined - undefined

API url