รายละเอียดโครงการ
- แหล่งทุน: [object Object]
- ปีงบประมาณ: 2015
- ลักษณะโครงการ: โครงการเดี่ยว
- ประเภทโครงการ: โครงการวิจัยสาขาเกษตรศาสตร์
- หัวหน้าโครงการ: ดร.ขรรค์ชัย ประสานัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์
- ผู้ร่วมวิจัย:
ความเป็นมาของโครงการ
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติคือการรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในเกิดประโยชน์สูงสุดและมีการสูญเสียน้อยที่สุด อาจหมายความรวมถึงการใช้แล้วมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ น้อยที่สุด ทรัพยากรป่าไม้เป็นทรัพยากรที่สามารถทดแทนได้ (renewable natural resources) ในประเทศไทยได้ประกาศยกเลิกการทำไม้ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 แต่อย่างไรก็ตามความต้องการใช้ไม้ยังคงมีอยู่และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ถือว่าเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหน่วยงานเดียวที่อยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีการปลูกและการทำไม้เพื่อใช้ภายในประเทศและส่งออกของประเทศไทย แต่ปัจจุบันการส่งออกไม้จำเป็นอย่างยิ่งที่ผลผลิตดังกล่าวต้องมาจากป่าที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องจากหน่วยงานหรือองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับในระดับนานชาติ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้าซึ่งในปัจจุบันให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนเพิ่มสูงขึ้น สวนป่าไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่สวนป่าที่มีการทำไม้สักซึ่งถือเป็นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทยที่มีมูลค่าสูง โครงการวิจัยผลกระทบจากการทำไม้ต่อความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ป่า และกายภาพของดินในพื้นที่สวนป่านี้เพื่อเป็นข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพและกายภาพบ้างปัจจัยมากน้อยเพียงใด อีกทั้งเป็นข้อมูลที่ส่งเสริมให้การทำไม้ในสวนป่าได้มีการทำถูกหลักมาตรฐานสากลในการคำนึงสิ่งแวดล้อม
วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาสถานภาพและรูปแบบการทำไม้ในพื้นที่สวนป่าไม้ไทรโยค ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
2. เพื่อศึกษาผลกระทบจากการทำไม้ในพื้นที่สวนป่าต่อความหลากหลายของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
3. เพื่อศึกษาผลกระทบจากการทำไม้ในพื้นที่สวนป่าต่อสมบัติทางกายภาพของดิน
Abstract
ปัจจุบันการส่งออกไม้จำเป็นอย่างยิ่งที่ผลผลิตต้องมาจากสวนป่าที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องจากองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้าซึ่งในปัจจุบันให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนเพิ่มสูงขึ้น สวนป่าไทรโยคเป็นหนึ่งในพื้นที่สวนป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมป่าไม้ และมีภารกิจในด้านการปลูกสวนป่า คุ้มครองป่า บูรณะและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้
ทั้งนี้ สวนป่าไทรโยคเป็นพื้นที่สวนป่าที่มีการทำไม้สักทางภาคตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่มีมูลค่าสูง โครงการวิจัยผลกระทบจากการทำไม้ต่อความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ป่าและกายภาพของดินในพื้นที่สวนป่านี้ เพื่อเป็นข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน โดยการวางแปลงสำรวจในพื้นที่ที่แตกต่างกันดังนี้ พื้นที่ที่ผ่านการทำไม้ออกแล้ว 7 ครั้ง (แปลงปี 2517) พื้นที่ที่ผ่านการทำไม้ 3 ครั้ง (แปลงปี 2519) พื้นที่ที่ผ่านการทำไม้ 1 ครั้ง (แปลงปี 2524) และพื้นที่ที่ยังไม่ผ่านการทำไม้ (แปลงปี 2527)
ผลการศึกษาพบว่าในสวนป่าไทรโยคนั้น ระบบการทำไม้ออกส่วนใหญ่ใช้การตัดสางขยายระยะแบบเลือกตัด ในแปลงปี 2517 มีพื้นที่ช่องว่างที่เกิดจากการทำไม้ออกมากกว่าแปลงปี 2519 แปลงปี 2524 และแปลงปี 2527 ตามลำดับ จึงมีความหลากหลายของพันธุ์ไม้เข้ามามากกว่าบริเวณแปลงอื่น อีกทั้งชนิดพันธุ์ไม้ที่สำรวจพบยังมีความเหมือนกับพื้นที่อนุรักษ์มากที่สุด ส่วนกลุ่มสัตว์ป่าพบว่า จำนวนครั้งของการทำไม้ออกในพื้นที่ไม่มีผลต่อความหลากหลายของนกเพราะนกสามารถเคลื่อนย้ายพื้นที่อยู่อาศัยได้ง่าย ส่วนกลุ่มสัตว์ขนาดเล็ก เช่นสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกพบมากในพื้นที่ที่ผ่านการทำไม้โดยเฉพาะแปลงปี 2517 เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีลูกไม้และกล้าไม้เป็นพืชด้านล่าง สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ดีเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ยังไม่ผ่านการทำไม้ ส่วนแปลงปลูกปี 2519 ช่วงทำการเก็บข้อมูลได้เกิดไฟป่าขึ้นทำให้สิ่งคลุมดินหายไป ส่งผลต่อชนิดพันธุ์สัตว์ที่ลดจำนวนลง
สมบัติกายภาพของดินในด้านความหนาแน่นรวมของดินทุกแปลงตัวอย่างมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตราฐาน ส่วนด้านความหนาแน่นอนุภาคของดินแปลงปี 2527 เท่านั้นมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตราฐานเนื่องจากยังไม่มีการทำไม้ออก ส่วนด้านความพรุนของดินและความชื้นของดินนั้นมีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานทุกแปลง