รายละเอียดโครงการ
- แหล่งทุน: [object Object]
- ปีงบประมาณ: 2014
- ลักษณะโครงการ: โครงการย่อยในชุดโครงการ "นิเวศวิทยาของไฟและการจัดการไฟในป่าผสมผลัดใบ ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง"
- ประเภทโครงการ: โครงการวิจัยสาขาเกษตรศาสตร์
- หัวหน้าโครงการ: ดร.ปิยวัตน์ ดิลกสัมพันธ์, อาจารย์
- ผู้ร่วมวิจัย:
ความเป็นมาของโครงการ
เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าเมื่อพูดถึงไฟป่าแล้ว ประชาชนทั่วไปจะมองว่าเป็นเหตุการณ์การที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบนิเวศ ทั้งในส่วนของพืชพรรณและสัตว์ป่า และในบางครั้งยังส่งผลต่อความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย โดยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าไฟป่าในหลายๆ ประเทศในโลกได้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้นไม่ใช่เฉพาะในประเทศของตนแต่กลับส่งผลต่อประเทศข้างเคียง และกำลังเป็นเรื่องที่ถกเถียงถึงผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
สำหรับในประเทศไทยไทยนั้นได้มีการสำรวจพบไฟป่าอยู่ในหลายๆ พื้นที่ป่าในประเทศและส่วนใหญ่พบว่าเป็นไฟป่าที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ อันเกิดขึ้นทั้งจากความรู้เท่าไม่ถึงการของประชาชนที่ใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณข้างเคียงพื้นที่ป่าใน กิจกรรมเผาวัสดุเหลือใช้เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเกษตรกรรมและไม่สามารถควบคุมการลุกลาม และจากความตั้งใจในการจุดไฟเพื่อขยายพื้นที่เพื่อทำเกษตรกรรม หรือเพื่อกิจกรรมการไล่ล่าสัตว์ป่า และส่งผลให้ประชาชนทั่วไปมองเห็นเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ป่าเหล่านั้น และเหตุการณ์ของไฟป่าที่เข้าปกคลุมพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ในช่วงฤดูแล้วก็เป็นตัวอย่างอีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านไฟป่าในวงกว้างของกลุ่มคนที่มองเรื่องไฟป่าในเชิงลบ และเป็นแรงกดดันให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องพยายามป้องกันการเกิดไฟป่าให้ได้อย่างสิ้นเชิง เพื่อลดแรงกดดันอันเกิดจากประชาชน
อย่างไรก็ตามไฟป่าไม่ได้ส่งผลในเชิงลบเพียงด้านเดียว ในระบบนิเวศบางชนิดโดยเฉพาะในป่าผลัดใบ เช่น ป่าเต็งรัง มีความต้องการไฟป่าเพื่อควบคุมความสมดุลของระบบนิเวศของป่าเต็งรังไว้ ทั้งในส่วนของโครงสร้างของป่า คุณสมบัติของดินและการหมุนเวียนของธาตุอาหารในดิน และในทางอ้อมไฟป่ายังช่วยรักษาแหล่งอาหารของสัตว์ป่าอีกด้วย และคงเป็นที่ยอมรับว่า ประชาชนที่พื้นที่บริเวณโดยรอบพื้นที่ป่า ยังมีพฤติกรรมที่จะพึ่งพาไฟในการดำรงชีวิต จึงเหมือนเป็นข้อมูลในเชิงวิชาการที่โต้แย้งกับกระแสการต่อต้านในปัจจุบัน
งานวิจัยและงานวิชาการหลายๆ เรื่องได้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาถึงผลกระทบอันเกิดขึ้นจากไฟป่า ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ แต่ยังขาดการรวบรวมให้เป็นระบบ และนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการไฟป่าอย่างเหมาะสม งานวิจัยครั้งนี้จึงมุ่งเน้นที่จะทำการรวบรวมข้อมูลทางด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับไฟป่า มาจัดทำเป็นระบบสารสนเทศเพื่อใช้ข้อมูลพื้นฐานในการจัดการไฟป่า และด้วยเหตุที่การจัดการไฟป่าในแต่ละพื้นที่ และแต่ละสถานการณ์นั้นอาจมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไปงานวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งเน้นในการพัฒนาระบบที่สามารถวิเคราะห์เหตุการณ์เพื่อเสนอแนวทางเพื่อสนับสนุนการตัดสินในการจัดการไฟป่าในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาจัดทำฐานข้อมูลและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการไฟป่า
2. เพื่อศึกษาพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและบริเวณใกล้เคียง
3. เพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อนำไปใช้วางแผนในการจัดการไฟป่าในเชิงบูรณาการ
Abstract
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับการจัดการไฟป่า โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นต้นแบบ ในการพัฒนาระบบประกอบด้วยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านการจัดการไฟป่า 3 ด้าน อันได้แก่ ภารกิจด้านการควบคุมไฟป่า ภารกิจด้านการป้องกันไฟป่า อันประกอบด้วย การลาดตระเวนเพื่อการตรวจตราไฟป่า และภารกิจสุดท้ายเป็นภารกิจด้านการประชาสัมพันธ์และฝึกอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึกของชุมชนโดยรอบที่มีต่อประโยชน์และโทษของไฟป่า
จากการศึกษาข้อมูลการเกิดไฟป่าระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2550 – 2558 ประกอบกับการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พบว่าการกระจายของไฟป่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบริเวณด้านตะวันออกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้าน และพื้นที่เกษตรกรรม และมีแนวโน้มลดลงเมื่อระยะห่างระหว่างหมู่บ้านมากขึ้น ดังนั้นจึงพอที่จะสรุปได้ว่าระยะห่างจากหมู่บ้านถือเป็นปัจจัยในเชิงพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์กับความตำแหน่งของการเกิดไฟป่า
สำหรับระบบสนับสนุนการตัดสินใจที่พัฒนาขึ้นสามารถนำข้อมูลของการเกิดไฟในอดีตเป็นฐาน เพื่อใช้ในการคาดการณ์การเกิดไฟป่าในอนาคต รวมถึงใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดแผนการป้องกันไฟป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดพื้นที่ในการลาดตระเวน