รายละเอียดโครงการ

ความเป็นมาของโครงการ

ช้างป่าเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ (endangered species) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (IUCN, 2010) สาเหตุหลักมาจากการทำลายพื้นที่อาศัยตามธรรมชาติ และถูกฆ่า จนแนวโน้มของประชากรลดลงในทุกแหล่งการกระจาย จากความต้องการใช้ที่ดินเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันในประเทศไทยมีช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติเพียงประมาณ 3,000 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์บางแห่งเท่านั้น (เกษมสันต์, 2552) เมื่อพิจารณาสภาพทางกายภาพด้านขนาดถิ่นที่อาศัยของช้างป่าที่มีขนาดเล็กลง ถูกแบ่งแยก ตัดขาดออกจากป่าผืนอื่น เกิดความเสื่อมโทรม ตามที่ปรากฏในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วไปของประเทศไทย นับเป็นปัจจัยผลักดันให้ช้างออกมาจากป่าก่อความขัดแย้ง นอกจากนี้การปลูกพืชเกษตรส่วนใหญ่ และการพัฒนาแหล่งน้ำรอบพื้นที่ป่าที่มีช้าง มีส่วนดึงดูดให้ช้างออกมาจากพื้นที่ธรรมชาติมากขึ้น ประกอบกับทัศนคติของคนในประเทศต่อช้างว่ามีความสำคัญกว่าสัตว์ป่าชนิดอื่น ทำให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่นอกจากทวีความรุนแรงแล้ว ยังเป็นปัญหาที่มีความสำคัญในการจัดการด้วย การศึกษานิเวศวิทยาของช้างป่าในพื้นที่ธรรมชาติของประเทศไทย ตลอดจนสภาพปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มีการศึกษาน้อยมาก ทั้งยังขาดการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนทราบ แม้ว่าแนวทางในการเก็บรักษาประชากรของช้างป่าที่ดีที่สุดคือการเก็บรักษาไว้ในพื้นที่อนุรักษ์ตามธรรมชาติ และจัดการอย่างเหมาะสม ก็ตาม พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ต่างตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และทางด้านใต้ ของประเทศ มีช้างป่าอาศัยอยู่ ประมาณ 30-40 ตัว 150 – 200 และ 150 ตัวตามลำดับ (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2552) มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าอย่างยาวนานเหมือนกัน อย่างไรก็ตามแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ตามความแตกต่างทางกายภาพของพื้นที่ สภาพอากาศ ขนาดขอบเขตของพื้นที่ สภาพถิ่นที่อาศัย รวมทั้งประวัติวิวัฒนาการความเป็นมาของพื้นที่ การเชื่อมต่อกันในอดีตของผืนป่าดังกล่าว กับบริเวณโดยรอบ การศึกษาครั้งนี้ จึงมุ่งที่ต้องการตอบปัญหาในเรื่องจำนวนประชากร โครงสร้าง ชั้นอายุในประชากร การเลือกใช้พื้นที่อาศัย พืชอาหาร ปัจจัยที่คาดว่าจะมีผลต่อการผลักดัน และดึงดูด ให้ช้างป่าออกมานอกพื้นที่ ระดับความรุนแรงของความขัดแย้งกับราษฎร การแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ศึกษา กรณีปัจจัยทางกายภาพของพื้นที่ ภายในพื้นที่อนุรักษ์จะศึกษาถึงขนาดของถิ่นอาศัย (effective area) และถิ่นอาศัยโดยรวม ประเมินความเหมาะสมของพื้นที่อาศัยในพื้นที่อนุรักษ์ตัวอย่าง การศึกษาขนาด และจำนวนต้นไม้ พืชอาหาร ศึกษาปัจจัยที่ผันแปรตามฤดูกาล ที่อาจมีผลต่อการออกมารบกวนราษฎร การศึกษาสภาพแวดล้อมบริเวณพื้นที่ที่เกิดสภาพปัญหาความขัดแย้ง ดำเนินการศึกษาทั้งทางกายภาพ ได้แก่ ขนาด และสภาพของพื้นที่ แหล่งน้ำ การเพาะปลูก ชนิดพืชเกษตรที่ประสบปัญหา ตลอดจนแนวทางที่ใช้ในการแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ การศึกษารวมรวมข้อมูลทั้งในพื้นที่อนุรักษ์ตัวอย่าง และบริเวณพื้นที่ที่เกิดปัญหาความขัดแย้ง สามารถนำมาประมวลให้ทราบถึงความสัมพันธ์ของความขัดแย้งในรูปของสมการทางนิเวศ หรือ โมเดล กับปัจจัยแวดล้อมที่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกัน สมควรได้มีการศึกษา เพื่อใช้เป็นตัวแทนของประเทศ และนำมาใช้อธิบาย คาดการณ์ ให้ข้อเสนอแนะการจัดการการอนุรักษ์ช้างป่า และแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทั้งในพื้นที่นี้ และพื้นที่แห่งอื่นตามความต้องการ ก่อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและประเทศต่อไป

วัตถุประสงค์

1. ศึกษาความหนาแน่นประชากร โครงสร้างชั้นอายุ และสัดส่วนเพศในแต่ละพื้นที่ 2. ศึกษาชนิดพืชอาหาร 3. ศึกษาสภาพที่อาศัย สภาพทางกายภาพ ขนาด ขอบเขตพื้นที่อาศัย 4. ศึกษาความสัมพันธ์กับสัตว์ป่าชนิดอื่น 5. ศึกษาปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างคน กับช้างป่าในพื้นที่ ระดับความรุนแรงของการรบกวนในแต่ละพื้นที่ และปัจจัยแวดล้อมทั้งทางกายภาพ และชีวภาพที่มีผลต่อความขัดแย้งในพื้นที่ 6. ศึกษาแบบจำลองความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางนิเวศ และสภาพแวดล้อมที่คาดว่ามีผลให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ชีวภาพ และสภาพเศรษฐกิจสังคมบางประการ แนวทางในการแก้ปัญหา เช่น ความหนาแน่นประชากรกับระดับความขัดแย้ง ฤดูกาล สภาพพื้นที่อาศัย กับระดับความรุนแรงของการรบกวนที่ได้จากการศึกษาในแต่ละพื้นที่

Abstract

การศึกษานิเวศวิทยา เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคน กับช้างป่าบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จังหวัดบึงกาฬ ดำเนินการระหว่าง ปี พ.ศ. 2552 ถึง พ.ศ. 2554 เพื่อศึกษาลักษณะประชากร ชนิดอาหาร ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการปรากฏของช้างป่า ศึกษาการออกมาหากินพืชเกษตร เพื่อใช้แก้ปัญหาความขัดแย้ง ผลการศึกษาพบว่า ความหนาแน่นกองมูลช้างป่ามีค่า 475.47 กอง/กม2 อัตราการสลายตัวของกองมูลช้างป่ามีค่าเฉลี่ย 0.0030 กอง/วัน ความหนาแน่นประชากรช้างป่ามีค่า 0.10 ตัว/กม2 ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนประชากรที่ได้จากการนับโดยตรง ที่พบจำนวน 24 ตัว โครงสร้างประชากร คิดเป็นสัดส่วนช้างตัวเต็มวัย: ช้างก่อนเต็มวัย: ช้างวัยรุ่น: ลูกช้าง เป็น 4: 1.67: 1.33: 1 ตามลำดับ ขณะที่โครงสร้างประชากรจากการวัดเส้นรอบวงรอยตีนหน้าที่ปรากฏบนพื้นทราย เท่ากับ 8.50: 4.50: 2.50: 1 ในช้างตัวเต็มวัย: ช้างก่อนเต็มวัย: ช้างวัยรุ่น: ลูกช้าง สัดส่วนเพศช้างเพศผู้เต็มวัยต่อเพศเมียเต็มวัย เท่ากับ 1: 3 การเกิดในประชากรมีค่า 6.73% ต่อปี ขณะที่มีการตาย มีค่า 4.17% เมื่อ เปรียบเทียบโครงสร้างประชากร สัดส่วนเพศตัวเต็มวัย สัดส่วนเพศเมียต่อลูกในประชากร และการเพิ่มพูนในประชากรช้างป่าแห่งนี้กับพื้นที่อนุรักษ์แห่งอื่นพบว่าใกล้เคียงกัน พืชอาหารในธรรมชาติที่กินพบรวม 45 ชนิด จาก 30 วงศ์ พบธาตุอาหารในแหล่งโป่งมีปริมาณน้อย ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการเลือกใช้พื้นที่อาศัยได้แก่ ประเภทป่า ปัจจัยที่มีผลรองลงมา ได้แก่ ระยะห่างจากถนนทุกการสัญจร หมู่บ้าน หน่วยพิทักษ์ป่า และพบว่ามีความคล้ายคลึงกันระหว่างหน้าแล้ง และหน้าฝน ขนาดพื้นที่อาศัยที่เหมาะสมมากของช้างป่าในพื้นที่ช่วงหน้าแล้งมีขนาด 18.60 กม2 ขณะที่ในช่วงหน้าฝนมีขนาด 13.44 กม2 เนื่องจากปัจจัยที่มีผลต่อการปรากฏของช้างป่าส่วนใหญ่อยู่ภายนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พบช้างป่าออกมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรมใน 8 หมู่บ้าน รวม 43 ครั้ง แนวโน้มของการออกมานอกพื้นที่ในแต่ละหมู่บ้านไม่แตกต่างจากในอดีตที่พบรวม 90 ครั้ง ใน 20 หมู่บ้าน ช้างป่ามักออกมานอกพื้นที่ตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่พบออกมาหากินในพื้นที่เกษตรในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน และช่วงเดือน ตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน เวลาที่ช้างออกมานอกพื้นที่ส่วนใหญ่พบระหว่างเวลา 23.00 น. ถึงเวลา 05.00 น. พืชเกษตรที่ถูกกินพบรวม 17 ชนิด จากที่พบว่าได้รับความเสียหาย 25 ชนิด คิดมูลค่าความเสียหายจากการประเมินเพื่อจ่ายค่าชดเชยเฉลี่ยปีละ 73,525 บาท การจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ที่สำคัญในอนาคตได้แก่การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน การใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์ป่า การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการอนุรักษ์ช้างป่า โดยได้เสนอไว้ในผลการศึกษานี้

Outputs

Journals

# Journal
1 ดร.รองลาภ สุขมาสรวง, รองศาสตราจารย์, นางสาวรัชนี โชคเจริญ, "นิเวศวิทยาของช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตวืป่าภูวัว จังหวัดบึงกาฬ", วารสารสัตว์ป่าเมืองไทย, ปีที่ 19, ฉบับที่ 1, ธันวาคม - ธันวาคม 2012, หน้า 13 - 22
2 ดร.รองลาภ สุขมาสรวง, รองศาสตราจารย์, "population density of Asian Elephant in Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary", วารสารวนศาสตร์ (Thai Journal of Forestry), ปีที่ 28, ฉบับที่ 1, มีนาคม - undefined 2009, หน้า 40 - 50

Conference

# Conference
1 นายวุฒิศักดิ์ คุ้มหมู่, ดร.รองลาภ สุขมาสรวง, รองศาสตราจารย์, "พฤติกรรมและชนิดพืชอาหารของลิงไอ้เงี๊ยะ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ", การประชุมการป่าไม้ พ.ศ. 2561 การปฏิรูปป่าไม้แห่งชาติ, ปีที่ undefined, ฉบับที่ undefined, สิงหาคม - สิงหาคม 2018, หน้า undefined - undefined
2 ดร.รองลาภ สุขมาสรวง, รองศาสตราจารย์, นายวุฒินันท์ ไอยราพัฒนา, อาจารย์, "ความหลากหลายทางพันธุกรรมของช้างป่า (Elephas maximus Linnaeus, 1758)ในป่าอนุรักษ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยบางแห่ง", การสัมมนาเรื่องสัตว์ป่าเมืองไทย ครั้งที่ 31, ปีที่ undefined, ฉบับที่ undefined, ธันวาคม - ธันวาคม 2010, หน้า undefined - undefined

API url